มุมถ่ายรูปสวย สถานที่ถ่ายรูปสวย และดนตรีดีๆ จากทั่วทุกมุมโลก

มุมถ่ายรูปสวย สถานที่ถ่ายรูปสวย และดนตรีดีๆ จากทั่วทุกมุมโลก

ป่าในกรุง ขวัญใจช่างภาพ

ป่าในกรุง

จากที่เดินทางมาร้อนๆ แต่พอก้าวเข้าไปในอาณาเขตป่าในกรุงปุ๊บก็เหมือนกับอยู่อีกโลกหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น ในนี้อากาศเย็นสบาย มองขึ้นไปก็ต้องอ๋อ เพราะที่นี่ขนาบข้างไปด้วยกำแพงดินบดอัดที่สร้างจากดินเหนียวผสมดินร่วน 90% ปูน 10% คุณสมบัติของดินจะไม่เก็บความร้อนแต่เก็บความชื้น กำแพงไล่เฉดสีตามแร่ธาตุในดิน ดินถูกอัดทีละชั้นให้แข็งแรง เอาละ ยังไม่ทันเดินป่าก็ต้องยกกล้องมาถ่ายแบบมุมไหนก็สวยแล้ว

และนี่เป็นแค่ตัวอย่างแรกของการปลูกป่าอย่างจริงจังที่ผสมผสานกับการออกแบบที่คิดมาดีเยี่ยมอย่างเคารพต่อธรรมชาติ นั่นทำให้ที่นี่มีแต่มุมสวยๆ แทรกตัวอยู่ในป่าที่แม้จะอายุน้อย พื้นที่ไม่ได้มากมาย แต่ก็อุดมสมบูรณ์และสวยงามท่ามกลางฝุ่นควันในกรุงเทพฯ

วันเสาร์ เป็นเวลาดีๆ ที่ยอมตื่นเช้าหน่อย แต่เราก็ได้เจอเพื่อนอีกคู่หนึ่งที่นัดมาในเวลาเดียวกัน และปรากฏว่าลูกทัวร์เดินป่าครั้งนี้รวมแล้วมีแค่ 4 คนเท่านั้นที่ไกด์ต้องดูแล ใช่แล้ว ที่นี่มีไกด์ด้วย และถึงลูกทัวร์จะมีแค่กระจุกเดียว แต่ไกด์พีรพัฒน์ คล้ายสุวรรณ ก็พกไมค์มาเล่าเรื่องแบบโนสคริปต์ และพาเราเข้าสู่โลกของป่ากลางกรุงอย่างจริงจังทว่ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา

มีเวลาราว 90 นาทีในการเดินป่า พอจับเวลาปุ๊บ ไกด์พาเราเดินดูเมล็ดไม้ที่แทรกตัวอยู่ติดกำแพงดินที่ปกคลุมไปด้วยลีกวนยูหรือไม้เถาที่ใช้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นไม้ไม่เกาะผนังที่แค่นำก้านมาปักชำในดินก็ขึ้นแล้ว ที่นี่เลยนำมาปลูกในดินบนกำแพงและให้ห้อยลงมาคลุมกำแพงดินสูงชะลูดเสียเลย

“คนสิงคโปร์ใช้ลีกวนยูเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง จนมีพื้นที่สีเขียวได้ถึง 66 ตารางเมตรต่อคนเลย ซึ่งจริงๆ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคนนะ แต่ของไทยเรามีแค่ 5.42 ตารางเมตรต่อคนเอง น้อยมาก” ประโยคหลังเราและคณะลูกทัวร์พูดออกมาพร้อมๆ กัน

และระหว่างกำแพงดินนั้นเองก็มีเมล็ดไม้แทรกตัวในเรซินที่ติดผนังไว้อย่างน่ารักให้ศึกษา ถ้าเป็นปกติเราอาจแค่มายืนๆ ดูพอให้รู้ว่าแต่ละพันธุ์ไม้อยู่ในหมวดอะไรตามที่ข้อมูลบอก แต่เมื่อไกด์พีรพัฒน์พาเดินดูปุ๊บก็สนุกขึ้นมาทันที เพราะไกด์จะมีเรื่องเล่าของเมล็ดไม้ต่างๆ ที่ลูกทัวร์ไม่เคยรู้

ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดไม้วงศ์ยางที่ต้องมีปีก เพราะต้นไม้สูง ปีกจะชะลอการตกได้ แถมเวลาลมพัดก็จะพัดไปตกได้ไกลจากต้น หรืออุทัยทิพย์ที่เราเอามาทาปากก็มาจากแก่นไม้ฝาง หรือย่านสาทรก็มาจากการตั้งชื่อในสมัยก่อนที่ตั้งตามต้นไม้ที่มีเยอะในพื้นที่นั้นๆ นั่นก็คือต้นสาธร หรือแม้กระทั่งบางกอกของเราก็มาจากคำว่า “บาง” ซึ่งคือพื้นที่ลุ่มน้ำ ส่วน “กอก” มาจากต้นมะกอกที่มีอยู่มากมายในสมัยก่อน หรือการลงรักปิดทองก็คือการเอาน้ำยางรักมาทาเนื้อไม้ประตูโบสถ์หรือวังเพื่อกันมอดกันปลวก ก่อนที่จะเอาทองมาปิดทับอีกที

แล้วไกด์ก็นำเราไปในห้องนิทรรศการขนาดไม่ใหญ่ไม่โต และพาไปดูหนังสั้นในห้องฉายหนัง เราใช้เวลาส่วนนี้อยู่ราวๆ 30 นาทีโดยไม่เบื่อเลย แต่เราไม่อยากลงรายละเอียดเพราะอยากให้ทุกคนมารับความรู้สึกการเดินทัวร์ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในห้องฉายหนังที่ถือเป็นไฮไลต์บนพื้นที่ราบ (ก่อนเดินป่า) สำหรับเราเลย เพราะวิธีต้อนรับเราเข้าสู่ป่าน่ะไม่ธรรมดา แถมยังตอบโจทย์การออกแบบที่สร้างสรรค์และส่งเสริมให้ธรรมชาติงดงามขึ้นอย่างดีเยี่ยมจนเราต้องปรบมือให้เป็นรอบที่สิบ

เดินป่าดิบลุ่มระยะ 1 เมตร

“ช่วงนี้อากาศแห้ง ระวังอย่าไปจับราวสะพานนะครับ ไฟจะชอร์ตเอาได้ แต่ตรงที่เป็นไม้จับได้นะ ใครกลัวความสูงบ้าง” ไกด์พีรพัฒน์รีบบอกก่อนจะเดินป่ากันจริงๆ พอรู้ว่าไม่มีใครกลัวความสูง ทุกคนก็เริ่มเดินป่าด้วยการเดินขึ้นสะพาน (Sky Walk) ยาว 200 เมตร

ป่าที่นี่ปลูกตามทฤษฎีสร้างป่าให้เป็นไปตามธรรมชาติ (ในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่า) ของอาจารย์อาคิระ มิยาวากิ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิธีปลูกป่าของที่นี่เป็นการเปิดโลกสำหรับเรามาก คิดตามดูนะ เขาจะสร้างเนิน เนินนี่ดีตรงที่ช่วยสร้างพื้นที่หน้าดินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าปลูกต้นไม้ได้เยอะกว่าการปลูกในพื้นที่ราบ ทีนี้เวลาปลูกก็จะนำไม้ดั้งเดิมในพื้นที่มา แต่จะไม่ปลูกแค่ไม้ชนิดเดียวกันนะ กฎคือใน 1 ตารางเมตรต้องปลูก 3 ต้น ต้องปลูกพืชคลุมดินก่อน เพราะโตเร็วมาก จากนั้นก็ปลูกพืชโตเร็ว และตามด้วยพืชโตช้า พอพืชโตช้าเห็นพืชโตเร็วเติบโตสูงไปไหนต่อไหนแล้ว ทีนี้พืชโตช้าก็จะรีบโตบ้างเพื่อรับแดดด้านบน เป็นการเอาตัวรอดดีๆ นี่แหละ

ตบท้ายความสงสัยของเราว่า “จริงๆ ความหมายของป่าคือต้องอยู่ได้เองตามธรรมชาติถึงจะเรียกว่าป่า แต่เราก็ต้องดูแลด้วยการปล่อยน้ำตก ตอนกลางคืนก็ปล่อยให้น้ำลด ไม่ได้ปล่อยน้ำเพิ่มเข้าไป ลำพูจะได้เติบโตได้ดี”

การเดินป่าบนสะพานสิ้นสุดลงที่ทางขึ้นหอคอย ที่นี่มีหอคอยสูง 23 เมตรที่ต้องเดินขึ้นบันไดวนนานหน่อย (ใครคิดว่าตัวเองไม่กลัวความสูงมาโดยตลอดอาจรู้ตัวว่ากลัวก็ตอนนี้แหละ ฮ่าๆ) ระหว่างการเดินป่าเราได้ยินเสียงนกร้องอยู่ตลอด ด้วยไม่สามารถแยกแยะเสียงนกเพื่อบอกสายพันธุ์ได้ เราเลยถามไกด์ดูว่าตั้งแต่เป็นป่ามาที่นี่มีนกอะไรหลงมาบ้าง

“นกเป็นสิ่งมีชีวิตที่บ่งบอกพื้นที่ป่าเลยนะครับ เพราะนกต้องทำรังบนต้นไม้ อยู่นี่มาผมได้เจอนกอีแพรดแถบอกดำ เจอนกกระยาง กทม. เป็นพื้นที่ราบลุ่ม การที่ กทม. ขยายเมืองอย่างรวดเร็วทำให้สัตว์ไม่มีที่อยู่ โดยเฉพาะสมันที่สูญพันธุ์ไปแล้วเนี่ย จริงๆ เราเจอสมันแต่ในป่าของ กทม. เท่านั้น และจะชอบอยู่ที่โล่งๆ พอ กทม. ไม่โล่งอีกต่อไป มีตึกมากมาย สมันก็สูญพันธุ์ไปครับ”

ทางเดินนั้นคือที่ที่เราใกล้กับป่านี้ในระยะสายตามากที่สุด และที่ใต้ต้นลำพูเราก็พบว่า การที่ที่นี่ไม่มีที่จอดรถ (มีจุดจอดรถข้างถนนและตามร้านต่างๆ แถบนั้น) ไม่ได้มีอาหารและของที่ระลึกขาย ไม่ให้คนเดินดูป่าได้อย่างใกล้ชิด (สร้างสะพานเพื่อให้คนไม่ไปเหยียบย่ำพื้นที่ป่า) ไม่ได้มีการรับทัวร์มากกว่า 30 คนในหนึ่งรอบ นั่นอาจผิดปกติไปมากเชียวสำหรับสถานที่ท่องเที่ยว

แต่ที่นี่คือศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง หน้าที่คือการปลูกป่า ดูแลป่า และสร้างองค์ความรู้ให้เรียนรู้ เมื่อปกป้องป่าอย่างดีแล้ว ที่เหลือก็รอคนที่เห็นคุณค่าของป่านี่แหละเดินทางมาเยี่ยมเยียนกัน เห็นความสำคัญ เคารพกันและกัน และปลูกป่าเล็กๆ ของตัวเองบ้างเมื่อมีโอกาส

ที่มา: tcompanion

 

Tags

แชร์: